พัชรไพลิน อินทรสมบัติ. 29 พฤษภาคม 2564

ภาษาคือการสื่อสารที่เป็นระบบ เป็นการถ่ายทอดทางปัญญา

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เรานั้นอ่อนแอ จะอยู่รอดได้ยากหากไม่ได้มีการพึ่งพากันและกัน เช่น เด็กเล็กต้องอาศัยการดูแลเลี้ยงดูจากผู้ใหญ่จนเติบโตสามารถหาน้ำ หาข้าวเลี้ยงดูตัวเองได้ เป็นต้น ด้วยการที่เราต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ด้วยกันนี้เอง ก็ทำให้เกิดวิธีการสื่อสารระหว่างกันขึ้นมา โดยหลักทั่วๆไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์แบ่งความต้องการในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารออกได้เป็น 3 อย่าง ได้แก่

1.การใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูล เช่น การบอกข้อเท็จจริงต่างๆ บอกทิศทาง

2.การใช้ภาษาในการสื่อสารสื่อสารเพื่อแสดงออกถึงความคิดความรู้สึก เช่น การบอกความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ

3.การใช้ภาษาเพื่อการบอกแนวทางวิธีการ เช่น การให้คำสั่งในการปฏิบัติตาม เป็นต้น

หากจะพูดถึงว่าภาษานั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบที่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะตอบให้นั้นคือ ไม่ทราบ เหตุผลเพราะว่าขาดหลักฐานที่แน่ชัดที่จะช่วยให้ข้อมูลเรื่องนี้ หลักฐานที่มนุษย์เรามีอยู่เก่าแก่ที่สุดในเรื่องจุดกำเนิดของภาษานั้นมีแค่ภาพวาดฝนังในถ้ำ

จริงอยู่ว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ นั้นก็มีวิธีการใช้เสียง หรือท่าทางเพื่อการติดต่อสื่อสารกัน แต่ก็ไม่มีสัตว์ชนิดใดมีการพัฒนาระบบการสื่อสารขึ้นมาได้ในระดับเดียวกันกับมนุษย์ ที่มีความซับซ้อนทั้งเรื่องโครงสร้างภาษา ตัวหนังสือ การใช้งาน นี่ก็เป็นหลักฐานที่ดีชั้นหนึ่งที่ช่วยแยกมนุษย์ให้มีความสามารถ ทักษะ สูงกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ถึงแม้จะมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนทำการทดลองสอนภาษามือให้กับลิงชิมแปนซี แต่ก็ไม่ได้มีผลที่แสดงออกมาว่ามันจะสามารถเรียนรู้ทักษะทางภาษาได้เช่นเดียวกันกับ ลูกมนุษย์

พื้นฐานของทักษะทางภาษาที่ดีคือความสามารถในฟัง

การเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งนั้นเด็กทารก เด็กเล็ก เริ่มเรียนรู้ภาษาจากการฟังเป็นหลัก สิ่งที่เด็กเล็กจะเรียนรู้ก่อนเป็นลำดับแรกในการเรียนภาษาของเขานั้นคือ การแยกแยะเสียงต่างๆที่ได้ยินจากผู้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น เสียง /ส/สอ, เสอะ เสียง /ร/รอ,เรอะ หรือเสียง /ล/ลอ, เลอะ ในภาษาไทย ภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น /p/ เพอะ, /r/ เรอะ, /l/ เลอะ เป็นต้น เสียงต่างๆเหล่านี้เรียกว่า หน่วยเสียง (Phones)

เสียงต่างๆเหล่านี้มีจำนวนมากน้อย การออกเสียงที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาษา เด็กในวัยเล็กๆนี้ควรมีโอกาสให้ฝึกได้ยินเสียงที่มีความหลากหลายจะช่วยให้เกิดทักษะในการเรียนภาษาในขั้นต่อไป โดยเฉพาะการเรียนภาษาอื่นๆเป็นภาษาที่สอง ที่สาม

มีตัวอย่างการศึกษาการเรียนภาษาของเด็กทารกของสองชาติสองภาษาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการฝึกการได้ยินเสียงที่หลากหลายบ่อยๆ จะทำให้เด็กมีทักษะในการแยกแยะความแตกต่าง และสามารถพูดคำที่มีเสียงใกล้เคียงกันแต่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น เด็กฝรั่งที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก จะได้ยินเสียง /r/ เรอะ และ /l/ เลอะ บ่อยๆจากการพูดของผู้ใหญ่ หูของเด็กก็จะสามารถแยกแยะความแตกต่างกันของทั้งสองเสียงได้ ในขณะที่เด็กญี่ปุ่นจะไม่สามารถทำได้หากไม่ได้ฝึกเช่นเดียวกันเพราะในภาษาญี่ปุ่นนั้นเสียง /r/ เรอะ และ /l/ เลอะ คือเสียงเดียวกัน ออกเสียงวิธีเดียวกัน เช่นเดียวกับเด็กไทยที่ฝึกให้หูนั้นคุ้นเคยกับโทนเสียงสูงต่ำของคำ เช่น มา ม่า ม้า ในขณะที่ฝรั่งพูดภาษาอังกฤษไม่มีโทนเสียง หูไม่เคยสามารถแยกแยะได้ ทำให้ไม่สามารถพูดเสียงต่างๆได้เพราะได้ยินว่าเสียงทั้งหมดนั้นคือเสียงเดียวกัน

ดังนั้น หากต้องการให้เด็กๆ หรือลูกมีทักษะที่ดีในการเรียนภาษา สิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องฝึกคือการฟัง การฟังในที่นี้คือ การหัดให้ได้ยินเสียงที่แตกต่าง ทั้งที่เป็นคำ มีความหมาย และไม่เป็นคำ โดยให้พูดให้ชัด ซ้ำ บ่อยๆ ให้เป็นเสียงที่เด็กคุ้นเคย

ส่วนวิธีการฝึกนั้นอ่านได้ในหัวข้อถัดไปค่ะ

เอกสารอ่านเพิ่มเติม